พุทธสถานพระแท่นดงรัง
พระแท่นดงรัง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๐ ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในเขตเทศบาลตำบลพระแท่น ในปัจจุบันนี้การคมนาคมสะดวกสบาย เพราะมีเส้นทางรถยนต์ผ่านวัด ๒ เส้นทาง คือแยกจากถนนสายบ้านโป่ง - กาญจนบุรี ใกล้หลักกิโลเมตรที่ ๑๐๑ ตรงตลาดท่าเรือ ระยะทางจากตลาดท่าเรือถึงพระแท่น ๑๐ กิโลเมตร อีกสายหนึ่งแยกจากถนนสาย กำแพงแสน-พนมทวน ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๒ เป็นระยะทาง ๓๐๐ เมตร ถึงวัดพระแท่นฯ ในบริเวณพระแท่นดงรังนี้ ทั้งวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร และพุทธสถานพระแท่นดงรัง ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน
พระแท่นดงรัง นับว่าเป็นเจดียฐานประการหนึ่ง คือถือว่าเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และนับว่าเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่งในสี่แห่งของ พระพุทธเจ้า คือสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ดับขันธปรินิพพาน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศอินเดียในปัจจุบัน
ตามตำนาน อันเป็นคติที่เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ ภายนอกประเทศอินเดีย ด้วยอำนาจฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์หรือ ตรัสพยากรณ์เรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในแว่นแคว้นเหล่านั้น จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยากรณ์ที่อ้างว่า พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์วัตถุไว้
ในประเทศไทยมีตำนานเกี่ยวกับการประทับรอยพระพุทธบาท และการสร้างพระธาตุเจดีย์อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย รวมทั้งพระแท่นและพระพุทธฉาย สำหรับพระแท่น ที่มีอยู่ในพงศาวดารคือ พระแท่นศิลาอาสน์ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย แต่พระแท่นดงรัง ไม่ได้มีกล่าวไว้ในพงศาวดาร จึงสันนิษฐานว่า อาจจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ความอัศจรรย์ของพระแท่นดงรังนั้นผิดกับเจดีย์วัตถุอื่น เนื่องจากมีผู้เชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระแท่นดงรังนี้จริง ๆ ซึ่งเท่ากับว่าเมืองไทยนี้เป็นมัชฌิมประเทศ อันเป็นสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
พระวิหารพระแท่นดงรัง พระแท่นบรรทม
พระแท่นบรรทม พระแท่นเป็นหินแท่งทึบหน้าลาดคล้ายแท่น หรือเตียงนอน ต่ำข้างหนึ่งสูงข้างหนึ่ง ขนาดยาว ๑๑ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๔ ศอกเศษ ด้านล่างป็นปูนปั้นรองแท่น มีหินวางทับซ้อนกันอยู่ มองดูคล้าย พระเขนย (หมอน) พระแท่นนี้อยู่ภายในวิหารเดิมมีต้นรังข้างละหนึ่งต้นโน้มยอดเข้าหากัน
"…..................................
ในระหว่างนางรังทั้งคู่ค้อม แต่ไม้รังยังรักพระศาสดา ชวนกันไปไหว้พระแท่นแผ่นศิลา คำนับน้อมกิ่งก้านก็สาขา อนิจจาเราเกิดไม่ทันองค์" |
ปัจจุบันมีวิหารสร้างครอบพระแท่นไว้ ซึ่งคงสร้างไว้นานแล้ว เพราะเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ สามเณรกลั่นได้เดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังกับสุนทรภู่ ได้แต่งนิราศไว้มีความตอนหนึ่งว่า
"ถึงพระแท่นแสนสงัดเห็นวัดมี กับต้นรังทั้งคู่ยังอยู่พร้อม ต่างชื่นชมโสมนัสยิ่งศรัทธา เข้าประตูดูแผ่นพระแท่นดัง ทั้งโบสถ์ที่ครอบพระแท่นแผ่นศิลา ดูยอดน้อมเข้ามาข้างแท่นที่แผ่นผา ตามบิดาทักษิณด้วยยินดี เหมือนบัลลังก์แลจำรัสรัศมี |
ส่วนที่เป็นพระแท่นนั้นเป็นปลายของเทือกศิลาที่ยื่นออกมา มีลักษณะเป็นศิลาแท่งสูงข้างหนึ่ง ต่ำข้างหนึ่ง ข้างสูงวัดได้ศอกคืบ และยังมีส่วนที่สูงขึ้นไปอีก เหมือนเป็นหมอน กว้างประมาณคืบเศษ สูงประมาณหนึ่งคืบ ปลายพระแท่นสูง ๑๖ นิ้ว พระแท่นยา ๑๑ ศอกคืบ กว้าง ๔ ศอก เศษ ส่วนล่างกว้าง ๓ ศอก เศษ
ประวัติความเป็นมา
วัดพระแท่นดงรัง หรือพระแท่นดงรัง สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพราะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธในประเทศลังกา เนื่องจากในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้นำพันธุ์พระศรีมหาโพธิมาจากเกาะลังกา และเกิดมีพระพุทธบาทขึ้นที่เมืองสระบุรีและพระแท่นดงรังในแขวงเมืองราชบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี) นับถือกันว่าเป็นบริโภคเจดีย์
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือ จากนิราศพระแท่นดงรังของ สามเณรกลั่น ที่เดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังพร้อมสุนทรภู่ เมื่อเดือนสี่ ปีมะเส็ง ปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ว่า
ถึงพระแท่นแสนสงัดเห็นวัดมี
ทั้งโบสถ์ที่ครอบพระแท่นแผ่นศิลา
กับต้นรังทั้งคู่ยังอยู่พร้อม
ดูยอดน้อมมาข้างแท่นที่แผ่นผา
ต่างชื่นชมโสมนัสยิ่งศรัทธา
ตามบิดาทักษิณด้วยยินดี
เข้าประตูดูแผ่นพระแท่นตั้ง
เหมือนบัลลังก์แลจำรัสรัศมี
และจากนิราศของนายมี ซึ่งเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรัง เมื่อปีวอก นักษัตรอัฐศก พ.ศ ๒๓๗๘ ภายหลังสามเณรกลั่น ๓ ปี นายมีได้พรรณนาถึงพระแท่นดงรังว่า
เอาธูปเทียนบุปผาสุมาลัย
ชวนกันไหว้พระแท่นแผ่นศิลา
ในระหว่างนางรังทั้งคู่ค้อม
คำนับน้อมกิ่งก้านก็สาขา
แต่ไม้รังรักพระศาสดา
อนิจจาเราเกิดไม่ทันองค์
จากนิราศทั้งสองนี้ทำให้ทราบว่ามีวัดพระแท่นดงรังและมีการสร้างวิหารคลุมพระแท่นอยู่ก่อนแล้ว จึงสันนิษฐานว่าพระแท่นนี้คงจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและอาจจะร้างไป เพราะอยู่ในช่วงสงครามกับพม่า ต่อมาจึงมีการบูรณะขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ ต่อมาวิหารได้ชำรุดทรุดโทรมไป
สมัยรัชกาลที่ ๓
พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาได้บอกบุญปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ตามจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ ๓ เลขที่ ๓๑๖ เรื่อง บัญชีรายนามผู้ปฏิสังขรณ์พระแท่น จ.ศ. ๑๒๐๑ (พ.ศ. ๒๓๘๒)
สมัยรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล่าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระแท่นดงรัง เมื่อเดือน ๖ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๒ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ตามปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "เมื่อปีกุน เบญจศก (พ.ศ. ๒๔๐๕) ที่พระแท่นดงรังก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมการเมืองราชบุรี ทำวิหารและพระราชอุโบสถที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ จำนวนเงินไม่ปรากฎ และให้สร้างเจดีย์ขึ้นที่หลังพระแท่น ๑ องค์
สมัยรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยค ปีฉลู จ.ศ. ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ได้กล่าวถึงค่ายหลวงพระแท่นดงรัง ได้ทรงเขียนอธิบายถึงพระแท่นดงรังอย่างละเอียดว่า " ... จนเวลาบ่ายโมงครึ่งไปที่พระแท่น ขี้เกียจจะแวะที่พระแท่นเป็น ๒ หน ๓ หน จึงขึ้นไปที่เขาถวายพระเพลิงเสียทีเดียว ระยะทางที่มาประมาณว่า ๑๒ เส้นนั้น เย็นวันนี้ ถามพันจันทร์ได้ความว่า ตั้งแต่พลับพลาไปจนถึงวิหารพระแท่น ทาง ๑๖ เส้น ๑๓ วา แต่วิหารไปถึงเชิงเขา๑๐ เส้น ๗ วา แต่เชิงบันไดถึงเชิงมณฑป ๓ เส้น ๘ วา ... ตรงหน้าที่สูงขึ้นบันไดขึ้นไป ยังเป็นยอดสูงขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่งเป็นที่ตั้งมณฑป ๑๒ เหลี่ยม กว้างประมาณ ๓ วา มีเสาข้างใน ๔ เสา ทำเป็นเมรุกลายๆ ยอดแหลม มีประตู ๒ ประตู ในนั้นมีพระบาทอยู่เชิงตะกอน ... ที่วิหารพระแท่นตั้งอยู่ที่นั้นเป็นเขาเทือกเดียวกันกับเขาถวายพระเพลิง เชิงเขานั้นตกราบลงมาสูงกว่าพื้นดินข้างล่างอยู่หน่อยหนึ่ง มาถึงที่พระแท่นจึงเป็นเขาศิลากองยาวออกไป ที่ข้างหลังวิหารมีช่องศิลายาวประมาณ ๖ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว หยั่งดูลึกสักสองศอก ว่าเป็นที่บ้วนพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ที่พระแท่นนั้นเป็นปลายของเทือกศิลาที่เขานั้นยื่นออกมาก่อผนังทับคงเป็นศิลาเป็นแท่งสูง ข้างหนึ่งต่ำข้างหนึ่งสูงนั้น วัดได้ศอกคืบ ยังมีสูงขึ้นไปเหมือนหนึ่งเป็นหมอน กว้างสักคืบเศษ สูงคืบหนึ่ง ข้างปลายสูง ๑๖ นิ้ว ยาว ๑๑ ศอกคืบ ข้างบนกว้าง ๔ ศอกเศษ เป็นพื้นขรุขระอยู่ แต่เจ้าของปิดทองทำปั้นเป็นบัวรองไว้ ... "
สมัยรัชกาลที่ ๖
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินไปซ้อมรบเสือป่า ณ ค่ายหลวงบ้านโป่ง ภายหลังการซ้อมรบเสือป่าแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปตามถนนและทางเกวียนมาทรงสักการะพระแท่นดงรัง แต่เสด็จเพียงวันเดียวไม่ได้ประทับแรม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์เล่าเรื่องพระแท่นดงรังถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสาส์นสมเด็จ ภาค ๓๗ ฉบับลงวันที่ ๑๙ และ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ว่า " ... ถึงพระแท่นดงรัง หม่อมฉันเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์สำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวพระแท่น เท่ากับผ้าเหลืองที่เขาเอาซ้อนกองไว้บนพระแท่นเป็นรูปคล้ายกับศพคลุมผ้านอนอยู่บนนั้น ผู้ที่ไปพระแท่นดงรังครั้งแรก ล้วนนึกว่าจะไปดูพระแท่น ครั้นไปถึงแต่พอโผล่ประตูวิหารเข้าไป เห็นรูปกองผ้าเหลืองเหมือนอย่าง "พระพุทธศพ" วางบนพระแท่นก่อนสิ่งอื่นก็จับใจในทันที บางคนก็สะดุ้งกลัว บางคนยิ่งรู้สึกเลื่อมใส พระแท่นดงรังอัศจรรย์ด้วยผ้าเหลืองกองนั้นเป็นสำคัญ จึงมักกล่าวกันว่าพระแท่นศิลาอาสน์ไม่น่าเลื่อมใสเหมือนพระแท่นดงรัง ... "
สมัยรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระแท่นดงรัง ๒ ครั้งคือ
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๒ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นโพธิ์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นรัง
เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถและเททองหล่อพระประธานและพระพุทธบาทจำลอง
พระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมานมัสการพระแท่นดงรัง
พระวงวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ๒๙ เมษายน ๒๕๑๒ เพื่อเตรียมการรับเสด็จฯ
สมเด็จพระภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๓ และ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ทรงประกอบพิธีเปิดงานนมัสการและทรงทอดผ้ากฐิน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จฯนมัสการพระแท่นดงรัง เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๕
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จรวม ๒ ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ และเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ เสด็จพระราชดำเนินทรงตัดหวายลูกนิมิต
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขึ้นทะเบียนพระแท่นดงรัง เป็นโบราณสถานของชาติ ตามประกาศในราชกิจนุเบกษา เล่น ๗๒ ตอนที่ ๒ ลงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ สิ่งสำคัญมีตัวพระแท่นและขอบเขตเนื้อที่รวมทั้งสิ้น ๕,๑๕๒ ไร่
สถาปนาเป็นพระอารามหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกพระแท่นดงรังเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธีสถานปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ..